ตามประกาศกฎหมายใหม่ในเรื่องสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ที่จะมีผลบังคับใช้ต้นปีหน้า2566 จริงๆเนื้อหาด้านใน มีอยู่หลายส่วนที่มีการปรับเปลี่ยน แต่ส่วนที่ประชาชนทั่วไปสนใจจริงๆ จะมีอยู่เพียง 2-3ประเด็น ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเรื่องของการควบคุมเพดานดอกเบี้ย ซึ่งประกาศฉบับใหม่ครอบคลุมทั้งรถยนต์ใหม่ , รถมือสอง และ จักรยานยนต์ ซึ่งรอบนี้ทางเราขออนุญาตวิเคราะห์เฉพาะในส่วนของรถยนต์เป็นหลัก -
-------------------------------------------------------
ตอนนี้หลายคน ยังคงเข้าใจว่ากฎหมายฉบับใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดอัตราดอกเบี้ยจากเดิม ให้เป็นแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) แต่จริงๆแล้ว เนื้อหาสาระของกฎหมายฉบับใหม่นี้ วิธีการคำนวณดอกเบี้ยและค่างวด (ทั้งรถใหม่,รถเก่า)ยังคงเป็นแบบเดิมคือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) เพียงแต่ต้องมีการแจกแจงให้ลูกค้ารับทราบ ว่าถ้าแปลงวิธีคิดคำนวณเป็นแบบลดต้นลดดอก จะมีอัตราดอกเบี้ยที่เท่าไร เพราะฉะนั้นวิธีการคิดคำนวณค่างวด รวมถึงวิธีการชำระเงินค่างวด ยังคงเป็นแบบเดิมที่เคยทำกันตามปกติ คือ ต้องจ่ายเท่ากันทุกงวด
--------------------------------------------------------
แต่สาระสำคัญที่เพิ่มเติมมา ก็คือ เพดานดอกเบี้ยสูงสุดแต่ละประเภท มีดังนี้
รถใหม่ เมื่อแปลงเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) แล้วต้องไม่เกิน 10%
รถมือสอง เมื่อแปลงเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) แล้วต้องไม่เกิน 15%
จักรยานยนต์ เมื่อแปลงเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) แล้วต้องไม่เกิน 23%
--------------------------------------------------------
ซึ่งในส่วนของจักรยานยนต์ อาจะได้รับผลกระทบเยอะ แต่ในส่วนของรถยนต์ทั้งรถใหม่และรถมือสอง ไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบัน ไม่ได้สูงเกินกว่าเพดานที่กฎหมายใหม่กำหนดอยู่แล้ว ซึ่งถ้าคิดคำนวณจากสูตรโดยคร่าวของการแปลงอัตราดอกเบี้ยจากอัตราคงที่ไปเป็นอัตราลดต้นลดดอก จะใช้วิธีคูณด้วยตัวเลข 1.8 เช่น อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ก็จะเท่ากับ 9% ในแบบลดต้นลดดอก ดังนั้นเมื่อแปลงค่ากลับเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่แล้ว เพดานดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศฉบับใหม่ จะเป็นดังนี้
รถใหม่ อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ต้องไม่เกิน 5.55%
รถมือสอง อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ต้องไม่เกิน 8.33%
จักรยานยนต์ อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ต้องไม่เกิน 12.78%
-------------------------------------------------------
สรุปง่ายๆตามนี้ เนื้อหากฎหมายฉบับใหม่ ไม่ได้เป็นการบังคับให้ไฟแนนซ์เปลี่ยนมาใช้ "ดอกเบี้ยลดต้นลดดอก"
เป็นเพียงการกำหนดเพื่อควบคุม "เพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ" ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด (ซึ่งทุกวันนี้ก็ไม่เกินเกณฑ์อยู่แล้ว)
ดังนั้นหากผู้บริโภคอยากจะซื้อรถยนต์ ณ ตอนนี้ ปีนี้ หรือต้นปีหน้า (แล้วไม่ได้มีแผนที่จะปิดบัญชีล่วงหน้า) จำนวนดอกเบี้ยที่ต้องเสียก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด